โรค ท่อน้ำดีอักเสบ (Acute cholangitis) เกิดจากอะไร และวิธีการรักษาเบื้องต้นเป็นอย่างไร


เขียนโดย
ท่อน้ำดีอักเสบ..ถึงชื่อไม่คุ้น แต่อันตรายถึงชีวิต
ข้อมูลโรคและสาเหตุการเกิดโรค
เมื่อใดก็ตามที่นิ่วในทางเดินน้ำดีอุดตัน หรือ ภาวะอื่นใดที่ทำให้ทางเดินน้ำดีอุดตัน จะสามารถทำให้เกิดการอักเสบในทางเดินน้ำดี จากน้ำดีที่ท้นกลับไป หรือ การติดเชื้อได้ในทางเดินน้ำดี ซึ่งมักมีอาการรุนแรง และ ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
อาการของโรค
อาการที่จำเพาะต่อโรคทางเดินน้ำดีอักเสบประกอบด้วย 3 อย่างคือ
- มีไข้
- ปวดท้อง
- ตัวเหลือง/ตาเหลือง (Charcot’s triad) แต่มีเพียงประมาณ 50-75% เท่านั้นที่พบได้ทั้งหมด 3 อย่าง อาการที่มักพบเป็นส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เป็นท่อน้ำดีอักเสบ คือ อาการไข้ร่วมกับปวดท้อง ซึ่งพบได้ประมาณ 80% ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ โดยที่ตัวเหลืองตาเหลืองสามารถพบได้ประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยทั้งหมด อาการอื่นๆ ที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง คือ มีอาการของความดันโลหิตต่ำ เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น ปัสสาวะออกน้อยลง หน้ามืดบ่อย ไม่มีแรง และความรู้สึกตัวน้อยลง
แนวทางการตรวจวินิจฉัยโรค
- ตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของตับอ่อน เช่น เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) เอนไซม์ลิเพส (Lipase) ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) และการทำงานของตับ (Liver Function Test: LFT) รวมทั้งตรวจหาการติดเชื้อ
- อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อดูว่าทางเดินน้ำดีมีขนาดใหญ่มากขึ้นหรือไม่ หรือเพื่อหาถึงสาเหตุถึงการอุดตันของทางเดินน้ำดี เช่นการที่มีนิ่วอุดตันในทางเดินน้ำดีเป็นต้น
- การตรวจอื่น ๆ หากจำเป็น เช่น เอกซเรย์ ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computerized Tomography Scan: CT scan) ทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI)
แนวทางการดูแลรักษา
- การรักษาเบื้องต้น ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตุอาการ งดน้ำงดอาหารเพื่อเตรียมเข้ารับการผ่าตัดในกรณีที่มีความจำเป็น เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีโอกาสอาการรุนแรงได้มากขึ้น และจะมีการให้การรักษาอีกหลายชนิดดังนี้
- การให้สารน้ำ ทางเส้นเลือด
- การแก้ค่าเกลือแร่ ที่ผิดปกติจากผลเลือด
- การให้ยาแก้ปวด ตามความเหมาะสม
- การให้ยาปฎิชีวนะ ทางเส้นเลือด
- การรักษาเพื่อระบายน้ำดี ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมากนักควรได้รับการระบายน้ำดีออกภายใน 24-48 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ควรได้รับการระบายน้ำดีภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าไม่มีข้อห้าม
แพทย์เฉพาะทางแนะนำ
ศัลยแพทย์ตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี, อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร, กุมารแพทย์ ระบบทางเดินอาหาร กรณีอายุน้อยกว่า 15 ปี
ข้อควรระวัง
โรคท่อทางเดินน้ำดีอักเสบเป็นโรคที่สามารถมีอาการรุนแรงได้และมักดำเนินโรคไปในทางที่แย่ลงอย่างรวดเร็วถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีอาการเข้าได้กับโรคนี้ควรเข้ารับการรักษาโดยเร็ว
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/january-2014/biliary-obstruction-explained