ผ่านวันแห่งความรักอย่าง วาเลนไทน์กันมาแล้ว สำหรับบางคนวันวาเลนไทน์อาจเป็นวันแห่งความสุข ที่ได้เฉลิมฉลองกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะกับตัวเอง ครอบครัว เพื่อน หรือคนรักก็ตาม แต่สำหรับบางคนที่วันวาเลนไทน์อาจทำให้นึกถึงความเจ็บปวดกับความรักบางอย่าง จนเจ็บอกไปหมด !
หลายๆคนอาจเคยไปปรึกษาเพื่อนเกี่ยวกับประสบการณ์ อกหัก กันมาบ้าง ประโยคปลอบใจที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ คงไม่พ้น อกหักเรื่องเล็ก ! อกหักจะเจ็บแค่ไหนเชียว !
แล้วเราเคยสงสัยมั้ยว่า…ตอนเราอกหัก มันเจ็บที่ใจ จริงๆหรือเปล่า หรือเราคิดไปเองกันแน่ ?
วันนี้ Agnos จะพามาทำความรู้จักกับ อาการอกหักที่เจ็บตรงอกจริงๆ กับภาวะหัวใจสลาย Broken Heart Syndrome
ภาวะหัวใจสลาย Broken Heart Syndrome คืออะไร ?
ภาวะหัวใจสลาย Broken Heart Syndrome คือ ภาวะที่ความสามารถในบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน โดยอาการนี้มีความเกี่ยวข้องกับ ภาวะเครียดอย่างรุนแรง บางครั้งเรียกว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด (Stress Cardiomyopathy) หรืออีกชื่อทางการแพทย์ คือ Takotsubo Cardiomyopathy
ที่มาของชื่อ Takotsubo Cardiomyopathy มาจากภาชนะที่ชาวญี่ปุ่นใช้จับปลาหมึก เพราะส่วนมากเวลาเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เมื่อทำการตรวจสวนหัวใจและฉีดสารทึบแสง จะได้ภาพหัวใจที่โป่งคล้ายภาชนะดังกล่าว จึงใช้ชื่อนี้เรียกภาวะความผิดปกตินี้ตั้งแต่ปี 1990 หรือปี พ.ศ. 2533
อาการของภาวะหัวใจสลายมีอะไรบ้าง ?
- อาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างกะทันหันและรุนแรง อาการอาจคล้ายกับอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด
- เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก
- หน้ามืด
- ความดันเลือดต่ำ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- อาจมีภาวะน้ำท่วมปอด
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากอะไรล่ะ..?
สาเหตุที่แท้จริงของอาการนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine ที่สูงขึ้นเฉียบพลันจากความเศร้า หรือความเครียดอย่างมาก นอกจากนี้ เมื่อคนเราตอบสนองต่อความเครียดทางร่างกายหรือทางอารมณ์ ร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดในเลือด อย่าง อะดรีนาลิน นอร์อะดรีนาลิน อะดรีนาลีน และนอร์เอพิเนฟริน ผู้เชี่ยวชาญคิดว่าฮอร์โมนเหล่านี้จะไปรบกวนการทำงานของหัวใจชั่วคราวและ อาจทำให้หัวใจห้องล่างซ้าย 'มึนงง' หรือเป็นอัมพาตชั่วขณะ ทำให้มีอาการคล้ายหัวใจวาย ได้แก่ แน่นหน้าอก ปวดแขนหรือไหล่ หายใจลำบาก เวียนหัว อาจถึงขั้นหมดสติ คลื่นไส้ และอาเจียน
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราเป็น ภาวะหัวใจสลาย หรือเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน ?
เนื่องจากสองโรคนี้ มีอาการที่คล้ายกันมากจึงไม่สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จนกว่าจะได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram)
การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) คือ การนำสายตรวจขนาดเล็ก สอดเข้าไปผ่านทางหลอดเลือดแดงที่บริเวณ ข้อมือ หรือ ขาหนีบ จนปลายสายนั้น ไปถึงหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นฉีดสารทึบรังสีจำนวนน้อยเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจและไปเอ็กเรย์ภาพของหลอดเลือดหัวใจ เพื่อทำให้สามารถเห็นลักษณะภายในหลอดเลือดของหัวใจได้ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่
เรารักษา ภาวะหัวใจสลาย ยังไงได้บ้าง ?
แพทย์จะทำการคัดกรองและวินิจฉัยก่อนว่า เราเป็นภาวะหัวใจสลาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันกันแน่ก่อน ด้วยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยา ที่ช่วยไปควบคุมการบีบของหัวใจนั่นเอง
แต่ในกรณีที่ภาวะหัวใจสลายที่เกิดจากความเครียด และความเศร้า แพทย์อาจส่งต่อให้กับจิตแพทย์ เพื่อรับมือกับปัญหาและความเครียดของผู้ป่วย
สรุปแล้วความรู้สึกที่เกิดจากสมอง ส่งผลต่อหัวใจเราได้จริงๆหรอ ?
จริงๆแล้ว ทุกๆความรู้สึกของเรา เกิดจากฮอร์โมน “ความรัก” ก็เช่นกัน เมื่อเรามีความรัก สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า โดปามีนและออกซิโทซินออกมา
สารนี้จะทำให้เรารู้สึกดี มีความสุข และต้องการมากขึ้นอีก จนอาจทำให้ถึงขั้นเสพติดกันเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้น หากใครที่เป็นทีมคลั่งรัก จริงๆแล้วก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับอยู่นะ!
แต่ในทางกลับกัน เมื่อเราอกหัก ระดับฮอร์โมนเหล่านี้จะหลั่งน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยฮอร์โมนอื่นๆ เหมือนตอนเรามีความรักนั่นเอง
เวลาเราอกหักก็มักได้ยินเพื่อนๆพูดว่า…
เวลาจะเยียวยาทุกสิ่งเอง…มันจริงหรือเปล่า ?
วิทยศาสตร์มีคำตอบให้กับเรื่องนี้มั้ย ?
เวลาเราเศร้าหรือเครียด ร่างกายก็จะปล่อยฮอร์โมนต่างๆออกมา หนึ่งในฮอร์โมยความเครียดนั้นก็คือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล
เมื่อเวลาผ่านไป ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะเริ่มลดลง และอาจถูกแทนที่ด้วยฮอร์โมนตัวอื่น ซึ่งจะทำให้เราเกิดความเครียดน้อยลง และระบบต่างๆในร่างกาย รวมถึงจิตใจของเราจะกลับเข้าสู่ภาวะปกตินั่นเอง !
เดือนแห่งความรักนี้ Agnos อยากจะส่งมอบสุขภาพกายและใจที่ดี ให้กับทุกๆคน รักคนอื่นแล้ว อย่าลืมรักตัวเองด้วยนะ !
และหากใครมีอาการที่กังวลใจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Agnos เพื่อทำการวิเคราะห์อาการเบื้องต้นได้ ฟรี 24 ชม. !
อ้างอิง : https://www.agnoshealth.com/articles/broken-heart-syndrome
https://health.clevelandclinic.org/can-die-broken-heart-emotional-questions/
https://www.phyathai.com/article_detail/
https://www.medparkhospital.com/content/broken-heart-syndrome